กำลังช้างสาร ๒

Beaumontia murtonii Craib

ชื่ออื่น ๆ
เครื่อง้วนเห็น, ศาลาน่อง (อุดรธานี); เถาจักรลาช (ประจวบคีรีขันธ์); ไส้ตันใหญ่ (ปราจีนบุรี)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ทุกส่วนมียางขาว ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกใหญ่สีขาว ฝักแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกเป็นคู่

กำลังช้างสารเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ตามลำต้นและกิ่งก้านมีช่องอากาศเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป มียางขาวเปลือกนอกสีเทา ปลายกิ่งมีรอยแผลใบและมีขนสีน้ำตาลแดงขนจะค่อย ๆ ร่วงไปเมื่อกิ่งแก่

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๙-๑๒ ซม. ยาว ๑๗-๒๐ ซม. ใบตอนบนที่ใกล้จะถึงช่อดอกขนาดเล็กกว่า กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๑๓ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๖ เส้น ปลายจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบและเห็นได้ชัด ก้านใบยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๑๓ ซม. ดอกใหญ่ สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ รูปกรวย ปากผาย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๑-๑๒ ซม. ก้านดอก ยาวประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกัน กลีบชั้นนอก ๒ กลีบ ยาวและเป็นคลื่น กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๓.๓ ซม. สีเขียวอ่อนขลิบเขียวเข้มที่ขอบ ส่วนอีก ๓ กลีบที่อยู่ชั้นในสั้นกว่า


สีเหลืองอมเขียวอ่อน กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดแคบ ๆ ยาวประมาณ ๒ ซม. แล้วผายออกปลายแยกกัน กว้างและยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแหลมเกสรเพศผู้ ๕ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกับผนังกลีบดอก ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. อับเรณูรูปเงี่ยงลูกศร ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. และทั้ง ๕ อันประกบกันโอบยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ อัน แต่ละอันมี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกด้านเดียว รูปทรงกระบอก ๒ ผล โคนติดกัน แต่ละผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๙ ซม. ยาวประมาณ ๒๘ ซม. เมื่อแก่จะแตกด้านเดียว เมล็ดยาวประมาณ ๑ ซม. หัวท้ายรี ตอนบนคอด บริเวณที่คอดมีขนเป็นพู่สีขาวยาวประมาณ ๒.๕ ซม.

 กำลังช้างสารชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ในต่างประเทศพบในภูมิภาคอินโดจีน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำลังช้างสาร ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Beaumontia murtonii Craib
ชื่อสกุล
Beaumontia
คำระบุชนิด
murtonii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
เครื่อง้วนเห็น, ศาลาน่อง (อุดรธานี); เถาจักรลาช (ประจวบคีรีขันธ์); ไส้ตันใหญ่ (ปราจีนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์